116 จำนวนผู้เข้าชม |
มันคงจะดีไม่น้อยถ้าเราทุกคนมีปุ่มรีเซ็ทชีวิตเป็นของตัวเอง เพื่อลบเรื่องน่าอาย และข้อผิดพลาดที่เราเคยทำในอดีต ตั้งแต่การเผลอทักคนผิด หรือทำกาแฟหกใส่เสื้อตอนมีนัดสำคัญ ไปจนถึงการลืมวรรคทองในสปีชที่อุตส่าห์ซุ่มซ้อมมานานเพื่อหวังพิชิตใจคนดู ถ้าทุกคนกำลังมองหาปุ่มรีเซ็ตนั้นอยู่ คุณ Luisa Montalvo ผู้ชนะในการแข่งขัน Toastmasters World Champion 2024 ซึ่งถือเป็นการแข่งขันพูดในที่สาธารณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขอเป็นผู้กดปุ่มนั้นให้ทุกคนผ่านสปีช 37 Strangers ที่นอกจากจะมอบมุมมองดีๆ ในการใช้ชีวิตแล้ว ในบทความนี้ One Publique ขอชวนทุกคนมาถอดรหัสความสำเร็จของสปีชในครั้งนี้ผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ "37 Strangers" กลายเป็นสปีชที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และทำให้คุณ Luisa Montalvo กลายเป็น Toastmasters World Champion คนที่ 84 ของโลก
1. การเล่าเรื่องให้น่าฟัง (Crafting a compelling story)
ต้องยอมรับว่าเนื้อหาสปีชของคุณ Luisa Montalvo มีความน่าสนใจมากอยู่แล้ว โดยคุณ Luisa เล่าถึงการค้นพบคุณค่าในตัวเองหลังจากประสบอุบัติเหตุจนทำให้เธอไม่สามารถเดินได้ เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์ในขณะที่กำลังกลับจากการช่วยเหลือขนย้ายสุนัขจรจัดไปยังศูนย์พักพิง โดยการประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้หัวใจเธอหยุดเต้นนานถึง 6 นาที และหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ และหน่วยกู้ภัยรวม 37 ชีวิต ซึ่งเธอนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจของสปีชในครั้งนี้ เธอได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความหวังอีกครั้ง ซึ่งฟังดูคร่าวๆ เรื่องราวของคุณ Luisa อาจจะทำให้หลายคนคิดว่าเนื้อหาของสปีชคือส่วนสำคัญที่ทำให้คุณ Luisa ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ว่านอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว วิธีการเล่าเรื่องของคุณ Luisa ก็ถือเป็นกุญแจสำคัญในการคว้าชัยชนะในครั้งนี้เช่นกัน
โดยในช่วงเกริ่นนำ (Introduction) เธอเริ่มสปีชด้วยการแสดงบทพูดตอนที่คุณหมอกำลังปั๊มหัวใจ“เคลียร์! เคลียร์! คนไข้ชีพจรหยุดเต้น ไม่มีการตอบสนอง” ถือเป็นการดึงจุดสนใจของผู้ชม ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า ผู้หญิงคนที่หมดสติก็คือตัวเธอเอง ถือเป็นการใช้เทคนิคดึงความสนใจด้วยฮุค (Strong hook) ในช่วงเกริ่นนำได้เป็นอย่างดี
ในช่วงเนื้อหาของสปีช คุณ Luisa เล่าถึงจินตนาการของเธอ ตอนที่หัวใจหยุดเต้นไป 6 นาที โดยเธอได้เปรียบเทียบว่าวินาทีที่คุณหมอปั๊มหัวใจเธอสำเร็จ เป็นตอนเดียวกับที่พระเจ้าเห็นถึงความดีของเธอที่คอยช่วยเหลือสุนัขจรจัด จึงได้มอบชีวิตคืนให้เธออีกครั้ง แต่หลังจากนั้น ในช่วงที่เธอรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์พักฟื้น เธอยังคงตั้งคำถามถึงคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากอุบัติเหตุทำให้เธอไม่สามารถเดินได้ แต่แล้ววันหนึ่งตอนที่เธอกำลังออกกำลังกายอยู่ในโรงยิมของสถานพักฟื้น เธอได้พบกับผู้ป่วยอีกท่านที่ดูแข็งแรงและออกกำลังกายอย่างแข็งขัน จนกระทั่งเธอเห็นว่าเขาได้สูญเสียขาทั้งสองข้าง แต่กลับไม่ย่อท้อต่อชีวิตและยังชวนเธอพูดคุยอย่างร่าเริง ซึ่งจุดนี้ทำให้เธอรู้สึกมีความหวังและยืนหยัดได้อีกครั้ง เห็นได้ว่าคุณ Luisa ใช้วิธีการยกตัวอย่างประสบการณ์ตรง (Personal Story) มาเพื่อสนับสนุนใจความหลัก ในสปีชของเธอซึ่งว่าด้วยเรื่องของ Self-worth หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองรวมถึง ชีวิตคนเราเริ่มใหม่ได้เสมอ โดยเรื่องที่เธอยกขึ้นมาเล่าช่วยทำให้ใจความหลัก (Key Message) ฟังดูมีน้ำหนักมากขึ้นและยังเพิ่มความน่าเชื่อถือ (Credibility) อีกด้วย
ในช่วงสุดท้ายคุณ Luisa เลือกใช้วิธี การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นรูปธรรม (Call to Action) มาใช้ในส่วน Conclusion เธอสร้างแรงจูงใจโดยการโยงไปถึง คนแปลกหน้า 37 คนที่มองเห็นคุณค่าในตัวเธอและช่วยให้เธอมีชีวิตรอดมาได้ เธอขอทำหน้าที่คนแปลกหน้าคนนั้น ให้ผู้ชมทั้ง 1,700 ได้มองเห็นคุณค่าในตัวเองและมอบพลังงานดีๆให้คนอื่นต่อไป คุณ Luisa ยังจบสปีชด้วยการหยิบเครื่องปั๊มหัวใจออกมาและทำการปั๊มหัวใจ รีสตาร์ทชีวิตใหม่ในเชิงเปรียบเทียบให้กับผู้ชมในฮอลล์ ถือเป็นการใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก (Props) เพื่อจบสปีชได้อย่างน่าประทับใจ
2. การเลือกใช้ภาษากายและสีหน้าได้อย่างเหมาะสม (Appropriate use of body languages and facial expressions)
อย่างที่หลายๆคนทราบกันดีว่าการใช้อวัจนภาษา (Non-verbal Communication) เช่นการใช้สายตา การใช้น้ำเสียง ท่าทาง การเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางสีหน้าถือเป็นส่วนที่สำคัญมากๆในการกล่าวสปีช โดยส่งผลมากถึง 65% ในการสื่อสาร ในขณะที่ส่วนของเนื้อหาหรือ Verbal มีผลเพียง 35% ที่น่าสนใจก็คือคุณ Luisa นั่งบนวิลแชร์ในขณะที่กำลังกล่าวสปีช หากแต่การเลือกใช้สีหน้า แววตา ท่าทาง และภาษากายโดยรวมของเธอนั้นถือได้ว่ามีประสิทธิภาพและทำให้สปีชของเธอทรงพลังเป็นอย่างมาก
สิ่งแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการใช้สายตา (Eye contact) กับผู้ชม ตลอดสปีชความยาวประมาณ 7 นาที คุณ Luisa มองไปที่คนดูอย่างสม่ำเสมอ และมีการแช่จังหวะ 3-5 วินาที ก่อนจะเลื่อนสายตาไปจุดอื่น โดยมีธีการนี้เป็นการทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสปีชและแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้พูด
การใช้ภาษากายอื่นๆเช่น การผายมือ การแสดงออกทางสีหน้าคุณ Luisa ก็ถือได้ว่าทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เยอะ ไม่น้อยจนเกินไป และใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อ เช่นการยิ้มและหัวเราะหลังจากการเล่นมุกตลก การขมวดคิ้วและใช้เสียงโทนต่ำเพื่อแสดงถึงความจริงจัง การลุกขึ้นยืนบางจังหวะเพื่อสร้างแรงกระตุ้น โดยจะเห็นได้ว่าการเลือกใช้ภาษากายดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการสร้างและคงความสนใจของผู้ชม
3. การสอดแทรกอารมณ์ขัน (Bringing a playful touch to the speech)
ด้วยความที่เนื้อหาสปีชของคุณ Luisa เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนัก การเลือกโทนในการเล่าเรื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากใช้โทนที่จริงจังเกินไปอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเครียด และลดความน่าฟังของสปีช แต่คุณ Luisa กลับสามารถเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างไม่ขาดสาย
การใช้มุกตลกมาลดทอนความจริงจังของเนื้อหา อย่างตอนที่เธอพูดถึงช่วงที่หัวใจหยุดเต้นไป 6 นาที และตบท้ายด้วยการบอกว่า นอนหลับสบายเลยหล่ะ หรือการใช้มุกตลกมาสอดแทรกตอนที่เล่าถึงความเชื่อทางศาสนา เช่น เธอบอกว่าพระเจ้ากดปุ่มรีเซ็ทบนไอแพด เพื่อล้างรายชื่อเธอออกจากคนที่ต้องขึ้นสวรรค์และส่งเธอกลับมาใช้ชีวิตต่อ ทำให้เข้าถึงผู้ชมที่มีความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายเข้าถึงสปีชของเธอได้ง่ายยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าการสอดแทรกมุกตลกในสปีชนอกจากจะเรียกเสียงหัวเราะและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างความสมดุลให้กับสปีช เพื่อไม่ให้ดูจริงจังจนเกินไป รวมถึงยังสามารถทำให้ผู้พูดรู้สึกผ่อนคลายและคอนเนคกับผู้ฟังง่ายขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ หากทุกคนได้ดูสปีชตัวเต็มของคุณ Luisa ก็จะเห็นได้ว่าการเล่าเรื่องให้น่าฟัง ภาษากายและการสอดแทรกมุกตลกเป็น 3 สิ่งที่โดดเด่นมากๆ และหากเรานำทักษะต่างๆเหล่านี้ของแชมป์ Toastmaster คนล่าสุดอย่างคุณ Luisa มาฝึกใช้ในการพูด รับรองได้ว่าการพูดของทุกคนจะต้องน่าฟังและประทับใจผู้ชมแน่นอน
About the author
Coach Poppy
A walking question mark, a vegan,
and a mother of 6 dogs.
ที่มา:
https://www.youtube.com/watch?v=OpuMNgxRMac