7 ข้อผิดพลาดร้ายแรงในการพูดที่แก้ไขได้ด้วย "หลัก 4 HAIL"

3 จำนวนผู้เข้าชม  | 

7 ข้อผิดพลาดร้ายแรงในการพูดที่แก้ไขได้ด้วย "หลัก 4 HAIL"

การสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตทั้งด้านส่วนตัวและด้านอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความคิดเห็น การสนทนา หรือการพูดในที่สาธารณะ การพูดอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้เราสามารถถ่ายทอดข้อความได้ชัดเจนและได้รับการตอบรับที่ดี ในบทความนี้วันพับลิคจะพาคุณไปดู 7 ข้อผิดพลาดร้ายแรงที่พบบ่อยในการพูดและ 4 หลักการสำคัญ (4 HAIL) ที่สามารถทำให้การพูดของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นจากคุณจูเลี่ยน เทรเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงและการสื่อสาร 

Julian Treasure/ขอบคุณภาพจาก ted/talks.com 

7 ข้อผิดพลาดร้ายแรงในการพูด
การพูดเป็นศิลปะที่มีพลังในการสร้างความประทับใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายความสัมพันธ์ได้หากไม่ระมัดระวัง ทุกคนคงเคยพบกับคนที่พูดแล้วทำให้เราจดจำได้ไม่ลืม ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม จงใจทำร้ายจิตใจผู้ฟังหรือการแสดงสีหน้าหรือท่าทางที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งไม่เพียงแต่จะลดประสิทธิภาพของข้อความที่เราต้องการสื่อ แต่ยังสามารถทำลายความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟังได้อีกดวย มาดูกันว่า 7 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการพูดมีอะไรบ้าง:

1.การนินทา – การนินทาหรือการพูดถึงผู้อื่นในทางไม่ดี การนินทาเป็นการทำลายความสัมพันธ์และสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการสื่อสาร การพูดถึงคนอื่นในทางเสียหายโดยไม่มีตัวบุคคลนั้นอยู่ด้วย จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความสงสัยในหมู่คนอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการนินทาและพูดด้วยความเคารพและความเห็นใจแทน
2. การตัดสิน – การตัดสินผู้อื่นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง การตัดสินผู้อื่นโดยไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจจริงๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกแย่และความไม่ยุติธรรมในวงสนทนา เราควรหลีกเลี่ยงการตัดสินโดยอคติและควรให้เวลาในการฟังความคิดเห็นของผู้อื่นก่อนที่จะตัดสินใจหรือพิจารณาข้อสรุป
3.การพูดเชิงลบ – การพูดถึงแต่ปัญหา การพูดแต่สิ่งที่ไม่ดีหรือปัญหาสามารถสร้างบรรยากาศอึมครึมต่อผู้ฟัง นอกจากจะทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดเชิงลบตามไปด้วย ผู้พูดยังพลาดโอกาสที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเราได้อย่างแท้จริงด้วยการสร้างอคติขึ้นในใจของผู้ฟังอีกด้วย ดังนั้นเราควรหันมาพูดถึงทางออกหรือแนวทางที่ดีในการแก้ปัญหาแทนที่จะใช้อารมณ์และเน้นย้ำแต่สิ่งที่ไม่ดี
4.การพร่ำบ่น – การแสดงถึงความไม่พอใจ การพร่ำบ่นเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจนั้นไม่ช่วยให้เกิดการแก้ไขหรือปรับปรุงอะไร รวมถึงยังเป็นการใช้คำพูดที่อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดกำลังใจในการหาวิธีแก้ไข การพร่ำบ่นอย่างไม่มีจุดประสงค์จะทำให้การสนทนาหมดคุณค่า ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเราควรพูดเพื่อเสนอแนะหรือช่วยแก้ไขปัญหานั้นๆมากกว่า
5.การพูดเพื่อแก้ตัว – แสดงถึงการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ การให้ข้อแก้ตัวเป็นการหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง การพูดแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คนอื่นไม่เชื่อใจเรา แต่ยังทำให้เราไม่เติบโตและไม่พัฒนาตนเอง ดังนั้นเราควรยอมรับความผิดพลาดและแสดงความพยายาม รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม
6.การโกหก – การพูดที่ไม่ตรงกับความจริง การโกหกหรือการพูดเกินจริงเป็นสิ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือของเรา โดยเฉพาะเมื่อคนอื่นค้นพบว่าเราไม่ได้พูดความจริง ความไว้ใจเป็นสิ่งที่สร้างได้ยาก แต่การทำลายมันกลับเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วเพียงเสี้ยววินาทีเดียว เมื่อเราไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจทำให้ความไว้ใจที่เคยมีถูกทำลายจนยากจะฟื้นคืนมา การพูดด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใสตั้งแต่ต้นจะช่วยให้เราสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ฟัง เพราะถือเป็นการแสดงถึงความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของผู้พูดนั่นเอง
7.การยึดมั่นในความคิด – การทำให้ข้อคิดเห็นกลายเป็นข้อเท็จจริง เมื่อเราพูดเหมือนกับว่าความคิดเห็นของเราคือข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ มันจะทำให้การสนทนานั้นไม่มีความยืดหยุ่นและไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงความคิดเห็น ควรแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และพูดอย่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตน


การพูดเป็นการสื่อสารที่มีพลังอย่างมาก แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบได้ในทางลบได้ง่ายเช่นกัน ใน 7 ข้อผิดพลาดเหล่านี้ ทุกคนอาจเคยเผลอทำไปโดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากความตั้งใจไม่ได้ คำพูดเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถย้อนกลับหรือเอาคืนได้ ดังนั้นก่อนที่จะพูดอะไรออกไป เราควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นมัวหรือความไม่สบายใจให้กับผู้อื่น การสื่อสารที่ดีควรเริ่มต้นจากการพิจารณาผู้ฟังและใคร่ครวญถึงใจความสำคัญของสิ่งที่เราจะพูด เพื่อให้การพูดของเรามีประสิทธิภาพและไม่เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ เราสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้ หลัก 4 HAIL หรือ 4 หลักการสำคัญในการพูดที่คุณจูเลี่ยน เทรเชอร์ได้เสนอขึ้นมาดังนี้:

1.ความซื่อสัตย์ – พูดอย่างตรงไปตรงมา (Honesty)
ความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานสำคัญของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเราพูดตรงไปตรงมาและไม่หลบเลี่ยงความจริง ผู้ฟังจะเข้าใจเราได้อย่างชัดเจน ทำให้การสื่อสารมีความโปร่งใสและไม่เกิดความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น หากเราได้รับคำติชมจากเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับการทำงานของเรา การพูดตรงๆ ว่ามีบางจุดที่เราทำผิดพลาดและต้องปรับปรุง จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานนั้นเข้มแข็งขึ้น เพราะความตรงไปตรงมาช่วยสร้างความไว้วางใจและยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น


2.ความเป็นตัวของตัวเอง – ยืนหยัดในหลักการของตัวเอง (Authenticity)
การพูดในสิ่งที่เราคิดและรู้สึกจริงๆ โดยไม่พยายามเป็นคนอื่นหรือเสแสร้ง คือสิ่งที่เรียกว่าความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความจริงใจและความน่าเชื่อถือ เมื่อเราพูดอย่างเป็นธรรมชาติและไม่พยายามปลอมแปลงตัวตน จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมโยงกับเราได้มากขึ้น เช่น ในการนำเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม หากเราแสดงออกอย่างจริงใจถึงสิ่งที่เราคิดและรู้สึก ไม่เพียงแค่พูดสิ่งที่คนอื่นอยากฟัง ผู้คนจะเคารพความคิดเห็นของเราและยอมรับเราในฐานะตัวตนที่แท้จริง


3.ความหนักแน่น – ปฏิบัติตามคำพูด (Integrity)
การมีความหนักแน่นไม่ได้หมายถึงแค่การพูดความจริง แต่ยังหมายถึงการทำตามคำที่เราได้พูดไว้และการปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ ความหนักแน่นในการปฏิบัติตามคำพูดช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความเคารพจากผู้อื่น เช่น หากเราให้สัญญากับเพื่อนว่าจะช่วยงานบางอย่าง แต่เมื่อถึงเวลาควรทำตามคำพูด การทำตามสัญญานั้นจะทำให้เพื่อนรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพและความเคารพในคำพูดของเรา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน


4.ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น – แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นผ่านคำพูด (Love)
การพูดที่เกิดจากความปรารถนาดีต่อผู้อื่นถือเป็นรากฐานสำคัญของการสื่อสารที่มีพลังในการสร้างบรรยากาศที่ดีและเป็นบวก การพูดด้วยความหวังดีและการให้กำลังใจไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดี แต่ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนหรือคนใกล้ชิดของเราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก การพูดให้กำลังใจ เช่น “ไม่เป็นไร เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” หรือ “ฉันเชื่อว่าเธอทำได้” จะช่วยให้เพื่อนรู้สึกมีพลังและมีกำลังใจในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น


การยึดหลัก 4 HAIL (Honesty, Authenticity, Integrity, Love) นอกจากจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดร้ายแรงในหารพูด เช่นใช้ความปรานาดีแทนที่จะนินทาและตัดสินผู้อื่น หรือเลือกใช้ความหนักแน่นแทนการพูดเพื่อแก้ตัวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกการสนทนา เพราะการพูดไม่ใช่แค่เรื่องของคำพูด แต่เป็นการแสดงออกถึงตัวตนและความตั้งใจของเรา เมื่อเราพูดด้วยความซื่อสัตย์ ความเป็นตัวของตัวเอง ความหนักแน่นในคำพูด และความปรารถนาดีต่อผู้อื่นจะทำให้การพูดของเรามีอิทธิพล มีความหมายและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

About the author

Coach Poppy
A walking question mark, a vegan,
and a mother of 6 dogs.

ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=eIho2S0ZahI

ขอขอบคุณภาพปกจาก Shutterstock

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้