1166 จำนวนผู้เข้าชม |
สำหรับนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ชื่นชอบการแข่งขันและการหาความรู้นอกโรงเรียนที่ได้ฝึกทักษะความรู้รอบตัวและความสามารถด้านวิชาการ พร้อมหรือไม่ที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองมาค้นหาความเป็นเลิศกับเพื่อนใหม่จากทั่วโลก
การแข่ง World Scholar’s Cup ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยมีแดเนียล เบอร์ดิเชฟสกี (Daniel Berdichevsky) เป็นผู้ก่อตั้งและรู้จักกันในนาม “Alpaca-in-Chief” เขาเป็นผู้ที่เคยได้คะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันวิชาการ US Academic Decathlon ของสหรัฐอเมริกา การแข่ง Decathlon เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เพราะได้สร้างแรงบันดาลใจในการเอาชนะความกลัวการพูดในที่สาธารณะ หลังจากที่แดเนียลจบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (Science, Technology, and Society) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แดเนียลเล็งเห็นว่า เด็ก ๆ ในประเทศอื่นยังไม่มีการแข่งขันทางวิชาการด้านความรู้รอบตัวแบบ US Academic Decathlon และถ้ามีการแข่งระดับโลกขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้ง World Scholar’s Cup ซึ่งโลดแล่นในโลกวิชาการมาเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว
ปัจจุบัน World Scholar’s Cup จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีในมากกว่า 65 ประเทศทั่วโลก การแข่งขันทั้งหมดจัดเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นักเรียนจากทุกมุมโลกสามารถเข้าร่วมได้อย่างเท่าเทียม
การแข่ง World Scholar’s Cup ถือว่าโดดเด่นเพราะไม่ได้เป็นแค่การแข่งวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการทดสอบทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและไหวพริบด้วย กิจกรรมของ World Scholar’s Cup แบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่
1. Scholar’s Bowl: เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในหอประชุมใหญ่ โดยแต่ละทีมจะมีอุปกรณ์คลิกเกอร์เพื่อใช้คลิกตอบคำถาม ที่อยู่ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย โดยคำถามจะทดสอบทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยลำดับคำถามจะเพิ่มความยากขึ้นในทุก ๆ ข้อ ในกิจกรรมนี้ นักเรียนละเพื่อนในทีมต้องทำงานร่วมกันตอบคำถามที่ต้องอาศัยไหวพริบและความเร็วในการคลิก เพราะต้องเดิมพันแข่งขันกับเวลา
2. Collaborative Writing: ทุกคนในทีมจะได้ใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ ในการเขียนเรียงความออกมาให้น่าสนใจที่สุด โดยจะมีหัวข้อให้เลือก 6 หัวข้อ แต่ละหัวข้อจะเป็นหมวดหมู่ของเนื้อหาทางวิชาการของ World Scholar’s Cup (อ่านต่อข้างล่าง) โดยนักเรียนในทีมจะต้องเลือกคนละ 1 หัวข้อ และห้ามซ้ำกัน โดยรวมแล้ว ทั้ง 3 คนจะเลือก 3 หัวข้อ ในช่วงต้น นักเรียนจะมีเวลาช่วยกันระดมความคิดก่อนที่จะแยกย้ายไปเขียนงานของตนเอง เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เด็ก ๆ จะมีโอกาสนั่งตรวจทานงานเขียนของเพื่อนและให้คำแนะนำ ก่อนหมดเวลา
3. Scholar’s Challenge: นักเรียนทุกคนจะต้องนำความรู้จากทั้งหกวิชามาใช้ในการทำข้อสอบแบบปรนัย 120 คำถาม ซึ่งจุดเด่นของกิจกรรมนี้คือ ในคำถามแต่ละข้อ นักเรียนสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ ยิ่งเลือกคำตอบน้อย จะได้รับคะแนนมากขึ้นหากตอบถูก นักเรียนทุกคนมีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลในแต่ละสาขาวิชา
4. Team Debate: ทุกทีมจะได้โต้วาทีทั้งหมด 3 รอบ ในหัวข้อที่แตกต่างกัน นักเรียนจะมีเวลา 15 นาทีในการค้นคว้าข้อมูลโดยระหว่างนี้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ ในการแข่ง แต่ละคนมีเวลาพูดไม่เกิน 4 นาที หลังจากจบแต่ละรอบ เด็ก ๆ จะได้รับคำตัดสิน จากนั้นทีมที่ชนะจะได้เข้ารอบไปแข่งกับทีมอื่นที่ชนะ ส่วนทีมที่แพ้จะได้แข่งกับทีมที่แพ้เช่นเดียวกัน
เนื้อหาการแข่งในทุกหมวดหมู่ของ World Scholar’s Cup จะอิงจากเนื้อหาทางการของการแข่ง ซึ่งมีทั้งหมด 6 หัวข้อด้วยกัน
1. Science & Technology วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. Special Area สาขาพิเศษ
3. Social Studies สังคมศึกษา
4. History ประวัติศาสตร์
5. Art & Music ศิลปะและดนตรี
6. Literature & Media วรรณกรรมและสื่อสร้างสรรค์
กลุ่มการแข่งขันจะแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่
1. กลุ่มอายุไม่เกิน 13 ปี (Super Junior และ Junior division) คือกลุ่มที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2009
2. กลุ่มอายุ 14 ปีขึ้นไป (Senior และ Graduates division) คือกลุ่มที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2009
สำหรับนักเรียนที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2009 เป็นต้นไปสามารถลงทะเบียนได้ทั้ง 2 กลุ่ม แต่หากว่าทีมใดที่มีนักเรียนที่เกิดก่อนวันที่ดังกล่าวเพียง 1 คนจะถูกคัดให้เป็นทีม Senior โดยทันที
รอบการแข่งขันมี 3 รอบ คือ
รอบการแข่งขันในระดับประเทศ (Regional Round) ซึ่งจัดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 มีนาคม 2566 ที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา (Bangkok Patana School)
รอบระดับโลก (Global Round) เด็กที่ได้รับการคัดเลือกจากรอบ Regional Round จะสามารถลงแข่งในรอบระดับโลกต่อได้ ในปี 2022 ที่ผ่านมา Global Round จัดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ (เมืองเคปทาวน์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (กรุงดูไบ) และสาธารณรัฐเช็ก (กรุงปราก) ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยด้วย โดยใช้สถานที่ที่โรงละครอักษรา ( Aksra Theatre) และโรงเรียนนานาชาติดีบีเอส (Denla British School) ในปี 2022 การแข่งจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายน แต่ในปี 2023 ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการว่ารอบ Global Round จะจัดที่ประเทศไทยหรือไม่ และจะเป็นช่วงเดือนไหน
รอบ Tournament of Champions ที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากรอบ Global Round จะได้เป็นตัวแทนผ่านไปแข่งรอบสุดท้าย ที่อเมริกา ซึ่งรอบนี้จะพิเศษมากกว่ารอบที่ผ่านมา นักเรียนจะได้สัมผัสบรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัย เสมือนได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ลองจินตนาภาพถึงการรับประทานอาหารในห้องอาหารของเยล โอกาสได้สนทนาและเรียนรู้ประสบการณ์จากนักศึกษา คณาจารย์ และพบปะกับวิทยากรคนสำคัญของมหาวิทยาลัยเยล และการได้เข้าร่วมฟังบรรยายเกี่ยวกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และวิธีใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ World Scholar's Cup เพื่อนำมาต่อยอด Portfolio เพื่อใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง งาน Yale Ball นักเรียนจะเต้นรำและร่วมรับประทานอาหารมื้อพิเศษในวันขอบคุณพระเจ้ากับเพื่อนจากกว่า 50 ประเทศ ณ Woolsey Hall ของเยล การได้รับชม Debate Showcase และ Scholar's Show ในโรงละคร Shubert ล้วนเป็นสถานที่ที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่และงดงาม สุดท้าย พลาดไม่ได้กับเกมล่าสมบัติที่นักเรียนจะได้สำรวจมุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจในรั้ว Yale และชุมชนโดยรอบ และได้ทำความรู้จักกับอัลปาก้าตัวเป็น ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแข่ง World Scholar’s Cup ด้วย
ในปี 2022 ที่ผ่านมา สถาบัน One Publique ได้ช่วยเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อลงแข่งในกิจกรรมนี้เป็นจำนวน 3 ทีมด้วยกัน โดยนอกจากจะช่วยเทรนดีเบทและการเขียนแล้ว เรายังได้ช่วยน้อง ๆ เตรียมตัวทบทวนเนื้อหา โดยให้ใช้แบบทดสอบทบทวนที่สถาบันของเราออกแบบมาให้นักเรียนโดยเฉพาะด้วย
น้อง ๆ คนไหนสนใจ อย่ารอช้า รวมทีม และกรอกใบสมัครได้แล้ววันนี้!
รายละเอียดเพิ่มเติม www.scholarscup.org/calendar/915-bangkok-round