5 ทักษะจากการโต้วาทีที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้นำที่มีอิทธิพล

63 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 ทักษะจากการโต้วาทีที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้นำที่มีอิทธิพล

หากพูดถึงทักษะสำคัญที่ผู้นำระดับประเทศและระดับโลกพึงมีนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารและความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแล้ว ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่ายังมีทักษะเชิงความคิดและสังคม (Soft Skill) เช่น การใช้เหตุผล การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์และการใช้วาทศิลป์ก็เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวสำหรับการเป็นผู้นำที่ดี โดยหนึ่งในวิธีการฝึกทักษะดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากก็คือ การโต้วาที (Debate) เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนผ่านการใช้หลักเหตุผลและการฝึกไหวพริบปฏิภาณ การโต้วาทียังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้ฝึกควบคุมอารมณ์ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน การทำงานเป็นทีม และการใช้วาทศิลป์เพื่อโน้มน้าวฝ่ายตรงข้ามและผู้ฟังอีกด้วย อย่างที่เห็นว่าผู้นำระดับโลกที่เป็นที่น่าจดจำหลายคนอย่าง เนลสัน แมนแดลาอดีตประธานาธิปดีและผู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมการแบ่งแยกสีผิวและ มาร์กาเร็ต แทชเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษและยุโรป ต่างเคยมีประสบการณ์การโต้วาทีก่อนก้าวเข้าสู่สนามการเมือง ในบทความนี้วันพับลิคขอพาทุกคนไปไขข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดการโต้วาทีถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำผ่าน 5 ทักษะจากการโต้วาที ที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้นำที่มีอิทธิพล

1.การเรียบเรียงความคิดให้เป็นเหตุเป็นผล
สิ่งสำคัญที่ทำให้การโต้วาทีต่างออกไปจากการพูดทั่วไปก็คือการใช้เหตุผล และข้อมูลที่เป็นจริง สามารถพิสูจน์ได้มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของการอภิปรายในหัวข้อนั้นๆ โดยในการโต้วาที ผู้เข้าร่วมต้องใช้เหตุผลในการสนับสนุนข้อโต้แย้งของฝ่ายตนในญัตตินั้นๆ การใช้เหตุผลที่ดีจะช่วยให้การโต้วาทีมีความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้ฟังสามารถเห็นด้วยหรือเปลี่ยนมุมมองตามที่ถูกนำเสนอ นอกจากนี้การใช้เหตุผลสามารถแสดงออกได้ผ่านการนำตัวอย่างหรือข้อเท็จจริงมาอ้างอิง เพื่อทำให้ข้อโต้แย้งมีน้ำหนักมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในการโต้วาทีญัตติ “พลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่าพลังงานถ่านหิน” ฝ่ายสนับสนุนอาจยกงานวิจัยว่าด้วยเรื่อง พลังงานทดแทนส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งส่งผลดีกับทั้งสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในระยะยาว

กล่าวคือการโต้วาทีเป็นการฝึกให้ผู้พูดฝึกหลักการใช้เหตุผล ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล และการเรียบเรียงความคิดซึ่งถือเป็นทักษะที่ผู้นำพึงมี

2.การฝึกไหวพริบปฏิภาณ
นอกจากการใช้กระบวนการคิดเป็นเหตุผลแล้ว สิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของการโต้วาทีก็คือ การที่ทั้งสองฝ่ายต้องฟังสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังอภิปราย และเขียนข้อโต้แย้งที่อยู่บนหลักเหตุผลในระยะเวลาอันสั้น เพื่อสามารถขึ้นไปพูดโต้หลังจากอีกฝ่ายพูดจบลงและเป็นการแก้ต่างให้กับสิ่งที่ทีมของตนกำลังจะเสนอต่อไปนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการยกมือชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในเหตุผลของฝ่ายตรงข้าม (Point of Information) ซึ่งสามารถทำได้ในขณะที่ผู้พูดอีกฝ่ายกำลังพูดอยู่ โดยการยกมือ POI นั้นถือเป็นการฝึกฝนที่ดีของทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายที่ตั้งคำถามจำเป็นต้องตั้งใจฟังและมองช่องโหว่ของข้อมูลที่อีกฝ่ายกำลังอภิปรายให้ออก ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่กำลังพูดอยู่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่มากพอ พร้อมกับอาศัยไหวพริบการตอบกลับอีกฝ่าย ทั้งนี้การเขียนข้อโต้แย้งและยกมือ POI ถือเป็นการฝึกไหวพริบปฏิภาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องเวลาและความกดดันจากฝ่ายตรงข้ามและผู้ชม การมีไหวพริบที่ดีสื่อให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำที่ดี

3.การฝึกควบคุมอารมณ์ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน
เนื่องจากการโต้วาทีถือเป็นการถกประเด็นภายใต้รูปแบบของการแข่งขัน ดังนั้นเรื่องความกดดันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เห็นในการโต้วาทีของอดีตประธานาธิปดีสหรัฐในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์และโจ ไบเดน ในวันที่ 27 มิถุนายน 2024 ที่ไบเดนได้เผลอเรียกทรัมป์ว่าเป็น “พวกขี้แพ้และห่วยแตก” (you’re the loser, you’re the sucker) ในขณะเดียวกันทรัมป์เองก็พูดเสียดสีไบเดนในเรื่องสมรรถภาพทางกาย ว่าตัวเขานั้นสุขภาพแข็งแรงดีในขณะที่ไบเดนนั้นอ่อนแอจนไม่สามารถตีกอล์ฟได้แม้ในระยะ 50 หลา (he can’t hit a ball 50 yards) แม้การโต้วาทีจบลงด้วยการที่ทรัมป์เป็นต่อ แต่ทั้งสองได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการควบคุมอารมณ์พอๆ กัน

ทั้งนี้นักโต้วาทีที่ดีควรรู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเอง รวมทั้งการอดทนต่อการพูดเสียดสีของฝ่ายตรงข้ามที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำควรมี เนื่องจากในการโต้วาทีบางครั้งการโจมตีที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาระของเรื่องอาจเกิดขึ้น เพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสนหรือเกิดความเครียด การที่นักโต้วาทีสามารถรักษาความสงบและไม่ปล่อยให้อารมณ์มีผลต่อการแสดงออกทางความคิด จะช่วยให้สามารถดำเนินการโต้วาทีได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษามาตรฐานของการสนทนาให้สูงอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน ผู้นำส่วนมากจำเป็นต้องทำงานภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังของคนทั้งประเทศ ดังนั้นการฝึกใช้สติควบคุมอารมณ์ต่อสถานการณ์ที่เครียดถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น                                                                                                                                                      ขอบคุณภาพจาก: Reuters

4.การทำงานเป็นทีม และการกระจายงาน
"เมื่อเราอยู่เพียงลำพัง เราอาจทำได้เพียงน้อยนิด แต่เมื่อร่วมแรงร่วมใจกัน เราสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้"


–เฮเลน เคลเลอร์, นักเขียนและนักเรียกร้องสิทธิมนุษยธรรมชาวอเมริกัน

การเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น ไม่เพียงแค่รู้จักหน้าที่ของตน เป็นผู้บุกเบิกทางความคิดและวางรากฐานให้กับองค์กร หากแต่การรู้จักทำงานเป็นทีม และกระจายงานให้เหมาะสมก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การทำงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด การโต้วาทีถือเป็นการฝึกทักษะในการทำงานเป็นทีมเนื่องจากแต่ละทีมจะต้องมีการวางแผนว่าเรื่องการแบ่งกันเตรียมข้อมูล ลำดับในการพูด ประเด็นหลักของแต่ละคน รวมถึงการผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีในแต่ละหัวข้อที่สมาชิกทีมมีความเชี่ยวชาญต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น การโต้วาทีช่วยให้สมาชิกในทีมพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำที่ดีผ่านการทำงานร่วมกัน และการประสานงาน การสื่อสารอย่างเป็นระบบ การรับฟังความเห็นผู้อื่น และการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในทีม ทั้งยังช่วยให้สมาชิกในทีมเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

5.การใช้วาทศิลป์ที่คมคาย
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผู้นำคนหนึ่งเป็นที่น่าจดจำต่อสาธารณะชนได้มากที่สุดอาจไม่ใช่เพียงความสามารถ แต่รวมไปถึงการใช้ภาษาได้อย่างมีศิลปะเพื่อสร้างอิทธิพลหรือโน้มน้าวใจผู้ฟัง โดยมักจะใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การใช้ภาษาที่ทรงพลัง การใช้โวหารภาพพจน์และการเล่าเรื่องเน้นสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ฟัง

บารัค โอบามาถือเป็นผู้นำคนหนึ่งที่โดดเด่นด้านการใช้วาทศิลป์ให้เป็นที่น่าจดจำ ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นพูดในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Convention) ในปี 2004 ที่โอบามาเน้นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ชีวิต การใช้น้ำเสียงหนักแน่นและการใช้ภาษาที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ซึ่งถือเป็นการใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวคนฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น

“พ่อของผมมีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับลูกชายของเขา ด้วยการทำงานหนักและความพยายาม พ่อของผมได้รับทุนการศึกษามาศึกษาต่อในดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน: อเมริกา ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของเสรีภาพและโอกาสสำหรับผู้คนจำนวนมากที่เคยมาถึงที่นี่มาก่อน”


การฝึกฝนวาทศิลป์ผ่านการโต้วาทีเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมีเหตุผลเพื่อโน้มน้าวผู้อื่น การเลือกใช้คำพูดที่มีเหตุผลและทรงพลังสามารถช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฟัง นอกจากนี้การโต้วาทียังฝึกให้ผู้พูดได้โต้แย้งประเด็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์และตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามต้องคิดอย่างลึกซึ้ง โดยรวมแล้วการโต้วาทีเป็นการฝึกฝนทักษะวาทศิลป์ที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำคัญต่อผู้นำ

                                                                                                                                     ขอบคุณภาพจาก: USA Today

สำหรับคนส่วนใหญ่ การโต้วาทีอาจถูกมองเป็นกิจกรรมเสริมสำหรับผู้ที่มีใจรักในการพูด ชอบการแข่งขันและความท้าทาย แต่ถ้าทุกคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การโต้วาทีก็เหมือนกับการลับคมสมอง อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงแต่จะเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารและการคิดเป็นเหตุเป็นผล หากแต่ยังเป็นการพัฒนาการฝึกภาวะความเป็นผู้นำดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการทำงานในอนาคต และไม่แน่ว่าผู้นำที่ทรงอิทธิพลคนต่อไปอาจจะเป็นนักเรียนที่กำลังนั่งเขียนข้อโต้แย้งอย่างเอาจริงเอาจังในห้องเรียนของวันพับลิคก็เป็นได้!

About the author

Coach Poppy
A walking question mark, a vegan,
and a mother of 6 dogs.

ที่มา:
https://www.gotoknow.org/posts/571374
https://debate-motions.info/best-debatable-topics/
https://www.youtube.com/watch?v=Vq0G1TMCw4Y
https://www.youtube.com/watch?v=ueMNqdB1QIE&t=33s
https://www.cfr.org/blog/twe-remembers-five-memorable-foreign-policy-moments-presidential-debates
ขอบคุณภาพปกจาก Reuters

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้